11.8.52

แตะหนองคาย-เหยียบเวียงจันทน์

เส้นทางคร่าวๆของการนั่งรถไฟไปเวียงจันทน์ครั้งนี้ คือ

"จากหัวลำโพง-->แตะหนองคาย-->ผ่านท่านาแล้ง-->เหยียบเวียงจันทน์"

มาถึงหนองคายประมาณ 9โมง45 (มั้ง..ประมาณนี้แหละ) พอมาถึงเราก็ต้องซื้อตั๋วไปท่านาแล้งที่นี่ ซึ่งจะมีรถไฟไปที่นั่นประมาณ2รอบ ประมาณ 10โมงเช้า และ 4โมงเย็น รอบกลับจากท่านาแล้งมาหนองคายก็ประมาณนี้เหมือนกัน ซึ่งคนที่มีพาสปอร์ตก็ซื้อตั๋วได้เลยคนละ20บาท ตอนรอเข้าแถวซื้อตั๋วเนี่ยให้ไปขอบอร์เดอร์พาสจาก จนท.มากรอกรอไว้เลย ให้กรอกทั้งขาเข้าและขาออกทั้ง2แผ่นไว้เลย ส่วนคนที่ไม่มีพาสปอร์ตก็ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่รถไฟไปเลยว่าไม่มีพาสปอร์ตจะขอทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว (Border pass) เอกสารที่ต้องใช้เดี๋ยวนี้ไม่ต้องยุ่งยากแล้วแค่ บัตรประชาชน อย่างเดียวก็พอ กับเงิน 100 บาทค่าที่เค้าไปดำเนินการให้ ใช้เวลาประมาณ15นาที เสร็จแล้วก็ซื้อตั๋วรถไฟได้เลย

บางคนจะบอกว่ามีพาสปอร์ตจะสะดวกกว่า แต่ส่วนตัวเราว่าบางที บัตรผ่านแดนชั่วคราวสะดวกกว่านะ เวลาขาเข้าก็ไม่ต้องกรอกบอร์เดอร์พาส ขาออกก็ไม่ต้องมาต่อแถวตรวจพาสปอร์ต เอาบัตรผ่านแดนแผ่นที่เหลือหย่อนลงกล่องแล้วก็เดินผ่านไปได้เลย แต่คนที่ใช้บัตรผ่านแดนอาจจะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง คือ ตอนมาถึงท่านาแล้งคนที่ถือพาสปอร์ตจะเสียค่าผ่านแดนขาเข้าแค่ 10 บาท แต่คนที่ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราว จะเสียประมาณ 40 บาท แล้วก็พาสปอร์ตจะอยู่ในลาวได้ 1 เดือน ไปเที่ยวส่วนไหนของลาวก็ได้ แต่บัตรผ่านแดนชั่วคราวจะสามารถพักในเขตเวียงจันทน์ได้เพียง 3 วัน 2 คืนเท่านั้น ถ้าเกินกว่านั้นจะถูกปรับพอสมควรเลยล่ะ

ขอเล่าย้อนนิดนึงว่าตอนที่ถึงหนองคายน่ะ มองออกไปจะเห็นโบกี้รถไฟแบบเก่าที่เค้าเอามารีโนเวททำเป็นห้องสมุดด้านใน สวย คลาสสิกเชียวล่ะ ถ้ามีเวลาก็ลองแวะดูกันได้นะ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาหรอกเพราะรถไฟมาถึงหนองคายก็เลทแล้ว เกือบจะเหลื่อมล้ำกับเวลารถไฟที่จะออกไปท่านาแล้งพอดี

กลับมาที่ท่านาแล้งแล่ะ..พอมาถึงที่สถานีท่านาแล้งต้องจ่ายค่าเข้าประเทศเค้า ตรงนี้สำหรับคนที่ถือพาสปอร์ตก็ต้องไปเอาใบจาก จนท.มากรอกเหมือนกันแล้วก็ต่อแถวจ่ายค่าธรรมเนียม 10 บาท ส่วนคนที่ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราวก็ไปอีกตู้นึง จะเสียค่าธรรมเนียมมากกว่านิดหน่อยแต่จะเร็วกว่าเพราะส่วนใหญ่เค้าจะมีพาสปอร์ตกันแถวก็จะยาวกว่า แต่สรุปแล้วเวลาที่ใช้ทั้งที่ฝั่งหนองคายและท่านาแล้งจะกินเวลาไม่มากเท่าไหร่ประมาณ10นาที แต่ถ้าฝั่งขาเข้าและออกของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (ถ้าอยู่ฝั่งลาวจะเรียก สะพานมิตรภาพลาว-ไทย) จะนานกว่านี้ บางทีอาจกินเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง เพราะที่สะพานมิตรภาพฯจะมีทั้งชาวไทย, ต่างชาติ, และชาวลาว มาทำเรื่องตรงนี้เยอะ แต่ที่ท่านาแล้งส่วนใหญก็มีแค่คนที่ต่อรถไฟจากหนองคายมาเท่านั้น ก็ที่มาจากหัวลำโพงด้วยกัน นอนโบกี้เดียวกันนั่นแหละ

พอจ่ายอะไรทุกอย่างเสร็จ ก็เตรียมสอดส่องหาคนร่วมแชร์รถเข้าไปไหนตัวเมืองเวียงจันทน์ได้เลย ค่ารถจะถูกตั้งไว้สูงมากเริ่มที่500-1,000 แล้วแต่ว่าเป็นรถกระบะหรือรถตู้ ต่อไปต่อมาจะเหลือไม่เท่าไหร่ แล้วตอนที่เราไปก็หารกันกับคนอื่นๆจะเหลือที่ คนละ40บาท คือ ต่อได้เหลือ400บาท ทั้งหมด10คน เป็นรถกระบะนะ (อันนี้ถือว่าคุ้มแล้วเพราะระยะทางไกลพอสมควร และเค้าก็จะไปส่งเราที่โรงแรมของแต่ละคนจนครบ) ก็คือตอนนี้พูดภาษาอะไรได้ก็เลือกเพื่อนร่วมทางตามภาษาที่ถนัดตามสะดวกเราเลย แต่ขอแนะนำให้รีบคุยกะคนไทยก่อนจะได้จบบทสรุปได้รวดเร็วขึ้น เพราะถ้าต่างชาติเค้าอาจจะคิดว่าเราจะหลอกเค้าก็เป็นได้ พอดีเจอมากับตัวเองไง อุตส่าห์งัดวิชาภาษาญี่ปุ่นอันน้อยนิดตัดสินใจชวนพี่ยุ่นที่ต่อแถวข้างหน้าเราให้แชร์ไปด้วยกัน กลับไม่ไว้ใจเราซะนี่คิดว่าเราจะไปหลอกเค้ามั้ง เห็นลังเลนานมากไม่ตอบสักที ซัดภาษาอังกฤษเข้าไปอีกก็ยังเงียบอีก ไปก็ไปทางเดียวกะเรายังมาคิดอะไรชักช้าอีก ระหว่างต่อแถวก็มีมาถามเราอีกว่าเสีย 10 บาทเท่ากันมั้ย (คงกลัวว่า จนท.ลาวจะโกงเค้า) หลังจากนั้นเริ่มรู้ว่าไม่เวิร์คแล่ะ พี่ยุ่นเค้าบอกขอคิดดูก่อน เลยเอาตัวเองก่อนดีกว่าจับกรุ๊ปพี่คนไทยที่มาพร้อมกันซะเลย..จบ ตอนแรกเราก็ยังห่วงพี่ยุ่นอยู่ พยายามชวนให้ไปด้วยกันบอกพี่คนไทยให้รอด้วย ก็บอกพี่ยุ่นไปว่าเค้าคิดราคาเหมาคันละ500 ไปกี่คนก็500 หารกันก็จะจ่ายคนละไม่ถึง100 พี่ๆคนไทยก็ช่วยพูดด้วยก็ยังไม่ตัดสินใจอีก (คนญี่ปุ่นนี่คิดเยอะจริงๆ) เห็นพี่ยุ่นแกวิ่งไปอีกกรุ๊ปนึงก็คิดว่าโล่งแล่ะไม่ต้องรับผิดชอบแล่ะ ไปๆมาๆพี่แกก็วิ่งกลับมาบอกว่าทีคันโน้นจ่ายแค่คนละ60บาทเอง (แกคงไปเซอร์เวย์มา..กลัวโดนหลอก) ทุกคนเลยช่วยกันพูดว่าตอนนี้คันพวกเราหารแล้วตกแค่คนละ40กว่าเอง พี่แกถึงได้ยอมไปกับพวกเรา หลังจากนั้นอยู่บนรถก็ไม่ได้คุยกันอีกเลย..เข็ดแล้ว แต่พี่คนไทยดีมากช่วยแนะนำร้านอาหาร ที่เที่ยว ที่พัก เยอะแยะเลย เสียดายไม่ได้ขอเบอร์เค้ามา ยังไงก็ขอบคุณมากนะคะ..ที่ชวนขึ้นรถมาด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น